Monday, November 18, 2019

ป้องกันการแพ้ยาข้ามกัน

 แนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพ้ยาข้ามกันในกลุ่มยาที่พบบ่อย (Cross reactivity)

1.  การแพ้ยาข้ามกลุ่ม Beta-lactam

              ประกอบด้วย Penicillins, Cephalosporins และ Carbapenems หากผู้ป่วยแพ้ยากลุ่ม Penicillin ให้ระมัดระวังการใช้ยาในกลุ่ม Penicillin โดยการแพ้ยาแบ่งออกเป็น 2 ระดับได้แก่ การแพ้ยาที่รุนแรงเช่น SJS, TEN, DRESS รวมถึงอาการแพ้ยาแบบเฉียบพลันแบบ Anaphylactic อีกประเภทคือการแพ้ยาที่ไม่ใช่อาการรุนแรง เช่น ผื่นคัน ผื่นลมพิษ ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องใช้ยา สามารถให้ยาภายในกลุ่มได้แต่ควรติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติงาน ดังนี้

1. พบประวัติการแพ้ยา Penicillin ให้พิจารณาอาการแพ้ยาว่ารุนแรงหรือไม่หากรุนแรงให้หลีกเลี่ยงการใช้ยา Bata-lactamทั้งกลุ่ม



2. หากไม่รุนแรง แต่ผ่านกลไกการแพ้แบบ Type-I reaction หรือ Ig-E mediated reaction ไม่ควรเลือกใช้ยากลุ่ม Beta-lactam เนื่องจากมักเป็นการแพ้ที่ Bata-lactam ring ให้เลือกใช้ยากลุ่มอื่นก่อน หากแพทย์พิจารณาเลือกใช้ยาโดยการทำ Desensitization ให้ติดตามการใช้ยา

3. กรณีเป็นการแพ้ยาไม่รุนแรงนอกเหนือจากข้อ 1 และ 2 ให้พิจารณาการใช้ยาตามลักษณะโครงสร้างของยาในแบบ Consult แพทย์ โดยหลีกเลี่ยงยาที่มีโครงสร้างคล้ายกัน(ภาคผนวก 5)

4. เภสัชกรโทรศัพท์ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการสั่งใช้ยาใหม่ และบันทึกในแบบ Consult แพทย์

5. กรณีไม่สามารถติดต่อแพทย์ได้ ให้เภสัชกรบันทึกคำปรึกษาลงในแบบ Consult แพทย์และส่งต่อให้แพทย์พิจารณาอีกครั้ง


                 สำหรับผู้ป่วยที่มีการแพ้ยากลุ่ม Penicillin ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม Cephalosporins โดยเฉพาะ 1stและ 2ndgeneration เช่น Cephalexin, Cefazolin รวมถึง Cefaclor เนื่องจากพบอัตราการแพ้ยาข้ามกันมากกว่า generation อื่น ๆ หากการแพ้ยาไม่ใช่อาการรุนแรง เช่น ผื่นคัน ผื่นลมพิษ ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องใช้ยา สามารถให้ยาภายในกลุ่มได้แต่ควรติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ส่วนการแพ้ข้ามกลุ่มระหว่าง Penicillin กับ Carbapenem พบโอกาส 9.2 – 11%




2.  การแพ้ยาข้ามกลุ่ม NSAIDs

การแพ้ยากลุ่ม NSAIDs แบ่งออกเป็น 2 กรณีได้แก่ True allergy มีลักษณะการแพ้ยาข้ามกันเฉพาะยาหรือกลุ่มยาที่มีโครงสร้างเหมือนกัน และ Pseudoallergyที่การแพ้ข้ามกันในยา Cox-1 ทุกตัว เนื่องจากกลไกการแพ้เกิดจากการที่ยาลดการสังเคราะห์ PGE2 ทำให้การปลดปล่อย Histamine มากขึ้น ดังนั้นการจัดการจึงต่างกัน โดยมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้

1. หากพบประวัติแพ้ยากลุ่ม NSAIDs พิจารณาประวัติการใช้ยา NSAIDs ตัวอื่นร่วมด้วยกรณีแพ้ยามากกว่า 1 ตัวที่มีโครงสร้างไม่เหมือนกัน ควรหลีกเลี่ยงยากลุ่ม NSAIDsที่ยับยั้ง Cox-1 ทุกตัว

2. หากการแพ้มากกว่า 1 ตัวมีโครงสร้างเหมือนกัน ให้พิจารณาเลือกยาที่โครงสร้างต่างกัน และติดตามการใช้ยาอย่างใกล้ชิด

3. เภสัชกรประเมินลักษณะการแพ้ยา โดยการแพ้ยาประเภท Delay type เช่น MP rash, Fixed drug eruption, และการแพ้ยาแบบรุนแรงSJS, TEN มักเป็นการแพ้ยาแบบ True allergy หากเป็นการแพ้แบบรุนแรงห้ามใช้ NSAIDs ทุกตัว




3.การแพ้ยาข้ามกลุ่มของยาซัลฟา

ยาที่มีโครงสร้างของหมู่ฟังก์ชั่นSulfonamide สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ Antibiotic เช่น Sulfasalazine, Sulfadiazine และSulfamethoxazole ใน Bactrim อีกกลุ่มคือ non-antibiotics sulfonamide เช่น Furosemide, Thiazide (HCTZ), Sulfonylureas, Cox-2 inhibitors เป็นต้น การแพ้ยาส่วนใหญ่มักเกิดในกลุ่ม Antibiotics แต่หากผู้ป่วยมีประวัติการแพ้ยาให้พิจารณาข้อกำหนดของยากลุ่มอื่นว่าเป็นข้อห้ามใช้ยาหรือข้อควรระวัง





4.  การแพ้ยาข้ามกลุ่มของยากันชัก

มีการรายงานการแพ้ยาที่รุนแรงของยากันชักได้แก่ Drug Hypersensitivity syndrome (DHS) , Drug reaction with eosinophilia and systemic symptoms (DRESS) ได้บ่อยถึง 47.4% จากยากันชักกลุ่ม aromatic antiepileptic drug โดยมีสมมุติฐานว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในร่างกายจาก aromatic ring เป็น Arene oxide ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ และพบการแพ้ยาข้ามกันในกลุ่มaromatic antiepileptic drug สูงถึง 40 – 58% โดยพบว่า carbamazepine สามารถพบการแพ้ข้ามกันกับยาaromatic ทุกตัวอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นหากผู้ป่วยเคยมีประวัติการแพ้ยาในกลุ่ม aromatic antiepileptic drug อาจพิจารณาใช้ยากลุ่ม non aromatic antiepileptic drug โดยมีแนวทางปฏิบัติดังนี้


1. เภสัชกรพบประวัติการแพ้ยากันชักของผู้ป่วย ให้พิจารณา 2 ประเด็นได้แก่ความรุนแรงของอาการแพ้ยา และประเภทของยากันชักว่ามีโครงสร้าง aromatic ring หรือไม่

2. หากเป็นการแพ้ยาที่มี aromatic ring และเป็นการแพ้ยาที่รุนแรง และพบการสั่งใช้ยา เภสัชกรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณา โดยแพทย์อาจพิจารณาการทำ challenge หรือ desensitization เป็นกรณีพิเศษ และบันทึกผลการปรึกษาลงในใบ consult

3. หากเป็นการแพ้ยาที่ไม่รุนแรง ควรมีการติดตามอาการแพ้ยาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการแพ้ยาข้ามระหว่าง carbamazepine กับยาในกลุ่ม aromatic antiepileptic drug ตัวอื่น








No comments:

Post a Comment